เมนู

พระบารมีเปี่ยมแล้ว และจะหาซึ่งโทษที่จะกีดกั้นอยู่มิได้ อุปไมยเหมือนแก้วมณีมีรัศมีอัน
บริสุทธิ์นั้น ขอถวายพระพร
สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ปิ่นประชากรได้ทรงก็ทรงพระโสมนัสตรัสว่า สมฺปฏิจฺฉามิ โยม
จะรับไว้เป็นข้อวัตรปฏิบัติแห่งกุลบุตรอันเกิดมาภายหลัง อันเป็นปัจฉิมาชนตาในกาลบัดนี้
อุติฏฐอุทรปัญหา คำรบ 7 จบเพียงนี้

ธัมมวินยปฏิจฉนปัญหา ที่ 8


ราชา

สมเด็จบรมกษัตริย์ขัตติยนรินทร์ทรงพระนามว่าพระเจ้ากรุงมิลินท์ภูมินทราธิบดี
มีพระราชโองการตรัสถามอรรถปัญหาอื่นแก่พระนาคเสนสืบไปว่า ภนฺเต นาคเสน ข้า
แต่พระนาคเสนผู้ปรีชา ภาสิตํ เจตํ ภควตา ถ้อยคำอันนี้สมเด็จพระบรมไตรโลกโมลีเจ้า
มีพระพุทธฎีกาตรัสประภาษไว้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธมฺมวินโย อันว่าพระสูตรพระวินัยและ
พระปรมัตถ์ วิวิตฺโต ถ้าเปิดออกกล่าวคือเทศนาบอกเล่าอยู่เมื่อใดก็รุ่งเรืองไปตราบนั้น ไม่รู้เสื่อม
โน ปฏิจฺฉนฺโน ถ้าว่าปิดบังไว้มิได้บอกกล่าวให้เล่าเรียน มิได้ตรัสพระธรรมเทศนาก็ถึงซึ่งภาวะ
ลี้ลับอัปภาคย์ไปไม่รุ่งเรือง ปุน จ ครั้นมาอีกใหม่เล่า สมเด็จพระบรมโลกนาถเจ้ามีพระพุทธ-
ฎีกาตรัสไว้ในวินัยปิฎกว่า ให้พระภิกษุสำแดงพระปาติโมกข์ในพระอุโบสถอันเป็นที่ลับ อย่าให้
อุบาสกอุบาสิกาฟัง ตกว่ากำบังพระวินัยไว้ โยมเห็นว่าถ้าเปิดพระวินัยออกให้แจ้งแก่สัตบุรุษ
สีกานี้ เขาได้ฟังแล้วจะจำเริญศรัทธา โสเภยฺย จะงดงามนักหนา เตน การเณน เหตุดังนั้น
อรรถรสธรรมรสวิมุตติรสจะปรากฏอย่างไรเล่า เมื่อกำบังพระวินัยเสียดังนี้ นี่แหละพระผู้เป็นเจ้า
แม้จะถือเอาคำเดิมที่พระองค์ตรัสว่าพระสูตรพระวินัยพระปรมัตถ์ ถ้าเปิดไว้แล้ว ก็จะรุ่งเรืองนั้น
คำภายหลังที่สมเด็จพระสัพพัญญูเจ้าตรัสให้พระภิกษุกำบังไว้ซึ่งพระวินัย มิให้สำแดงซึ่ง
พระปาติโมกข์แก่สัตบุรุษสีกานั้นก็จะผิด ครั้นจะเชื่อคำนี้เล่า คำที่สมเด็จพระสัพพัญญูเจ้าตรัส
ไว้เดิมก็จะผิด อยํปิ ปญฺโห อันว่าปริศนานี้ อุภโต โกฏิโก มิเที่ยงยังเป็นสองไม่ต้องกันชื่อว่า
อุภโตโกฏิ นิมนต์พระผู้เป็นเจ้าโปรดให้แจ้งซึ่งความกังขาของโยมในกาลบัดนี้
พระนาคเสนจึงมีเถรวาจาว่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร สมเด็จ
พระโลกุตตมาจารย์ มีพระพุทธฎีกาโปรดประทานว่า ธมฺมวินโย อันว่าพระสูตรพระวินัยพระ
ปรมัตถ์ ถ้าเปิดอออกไว้คือให้บอกกล่าวเล่าเรียน ก็จะรุ่งเรืองผ่องใส ปฏิจฺฉนฺโน แม้แลมากำบัง

ไว้มิได้เทศนาบอกกล่าวเล่าเรียนเล่า ก็เศร้าหมองเสื่อมไปรุ่งเรือง ครั้นแล้วพระองค์ตรัสพระ
สัทธรรมเทศนาว่า ให้พระพุทธบุตรกำบังวินัยปิฎก กระทำวินัยปิฎกคือพระปาติโมกข์ จะ
สำแดงพระปาติโมกข์ให้มีเสมาป้องกัน ควรจะฟังรู้แต่พระภิกษุ
มหาราช ขอถวายพระพร การที่จะแสดงพระปาติโมกข์ต้องมีเสมาปิดป้องกำบังนั้น
เป็นด้วยเหตุมีลักษณะ 3 ประการ คือพระปาติโมกข์นี้ ท่านให้พระพุทธบุตรปิดบังไว้ด้วย
สามารถเป็นวงศ์ประเพณีแห่งพระพุทธเจ้าแต่ก่อน ๆ สืบมา โปรดให้พระพุทธบุตรสวดในท่าม
กลางเสมาอย่าให้ผู้อื่นฟังได้ประการ 1 ให้ปิดบังเสียด้วยความเคารพในธรรม มิให้ดูหมิ่นดู
แคลนได้ประการ 1 ให้ปิดบังเสียด้วยสามารถภูมิของภิกษุควรเคารพไม่ควรทำเปิดเผยประการ
1 สิริเป็น 3 ประการด้วยกัน ที่ว่าเป็นวงศ์ประเพณีแห่งพระพุทธเจ้าแต่ก่อนนั้นเป็นอย่างไร คือ
สำแดงในท่ามกลางภิกษุเหล่านั้น ปิดบังไว้มิให้สามเณรและอุบาสกอุบาสิกาฟังได้ ยถา มี
ครุวนาฉันใด นะบพิตรพระราชสมภาร เปรียบปานดุจหนึ่งกษัตริย์ทั้งหลายจะสำแดงขัตติยมายา
ได้แต่ในวงศ์กษัตริย์ทั้งหลายด้วยกัน นอกกว่านั้นมิควรจะสำแดงให้ฟัง กิริยานี้เป็นประเพณีมา
สำหรับวงศ์กษัตริย์ฉันใดก็ดี อันว่ากิริยาที่สำแดงพระปาติโมกข์นี้ ให้สำแดงในท่ามกลางพระ
ภิกษุทั้งหลายเท่านั้น มิให้สำแดงในท่ามกลางผู้อื่น ก็เป็นประเพณีมาตามวงศ์แห่งองค์สมเด็จ
พระสัพพัญญูเจ้าแต่ก่อนเหมือนกัน และบรมกษัตริย์จะสำแดงขัตติยมายาได้แต่ในท่าม
กลางวงศ์กษัตริย์ด้วยกัน นอกกว่านั้นไม่ควรจะสำแดงในสำนักผู้ใดผู้หนึ่ง กิริยานี้เป็นประเพณี
ในโลกมาแต่กษัตริย์ขัตติยาธิบดีทั้งหลายนั้น ยถา มหาราช ดูกรบพิตรพระราชสมภารผู้
ประเสริฐ จะเปรียบปานฉันใด เปรียบปานดุจคนทั้งหลายอันเที่ยวอยู่ในแผ่นดิน มลฺลา คือ
คนปล้ำ อโตณา คือ ช่างทอง วฏกา คือช่างกระทำสร้อย ธมฺมคิริยา คนกล่าวถ้อยคำเป็น
ธรรมเป็นต้น และคนทั้งหลายนั้นรู้วิชาต่าง ๆ ก็กำบังวิชาซ่อนวิชาของตนไว้ตามพวกตามเหล่า
บอกได้แต่พวกที่รู้ด้วยกัน คนทั้งหลายนอกนั้นไม่สำแดงวิชาของอาตมาให้รู้ได้ ย่อมรักษาวิชา
ไว้ตามตระกูลวงศ์ของตนมิให้แพร่งพรายไปแก่ผู้อื่นได้ ยถา มีครุวนาฉันใด มหาราช
ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ เอโส วํโส อันว่าประเพณีวงศ์พระภิกษุพุทธ-
ชิโนรสเล่า ก็จำจะกำบังซ่อนไว้ซึ่งพระปาติโมกข์ จะสวดไส้สำแดงได้แต่ในพัทธสีมา มิควรที่จะ
ให้ฆราวาสสวนาการฟัง และให้ปิดบังไว้ดังนี้ เป็นประเพณีเยี่ยงอย่างมาแต่สำนักสมเด็จพระ
ศาสดาจารย์เจ้าทั้งหลาย ในกาลปางก่อน ทุก ๆ พระองค์มา เอวํ เมาะ ตถา มีอุปมาเหมือน
คนทั้งหลายอันมีวิชา แต่สงวนวิชาของอาตมาไว้ตามชาติตระกูลของอาตมา มิให้วิชา
แพร่งพรายไปแก่ผู้อื่นฉันนั้น
กถํ ธมฺมครุกตฺตา ปิทหิโต พระเจ้ามิลินท์จึงมีคำถามว่า ที่ว่าปิดบังไว้ด้วยเหตุ
เคารพในธรรมนั้นเป็นประการใด

พระนาคเสนจึงแก้ว่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภารเจ้าผู้ประเสริฐ
พระภิกษุพุทธบุตรพึงปิดบังไว้สำแดงปาติโมกข์ในพัทธสีมานั้น ด้วยสามารถเคารพในธรรม
นั้นคือพระปาติโมกข์นี้เป็นที่เคารพ ถ้าพระพุทธบุตรผู้ใดมีอุตสาหะปฏิบัติดีแล้ว ก็อาจสำเร็จแก่
พระนิพพาน ถ้าไม่ปกปิดไว้ บุคคลที่มิได้ปฏิบัติคือฆราวาสนั้น ก็มักดูหมิ่นดูแคลนติเตียน
นินทาไม่มีความเคารพ อันว่าพระปาติโมกขสังวรนั้น เป็นธรรมอันเป็นแก่นสาร เป็นสารธรรม
อันประเสริฐ ดุจหนึ่งแก่นจันทร์อันเลิศสมควรแก่ขัตติยกัญญาคณานาง เปรียบปานกษัตริย์จะ
โสมนัสนิยมชมชื่น ชนผู้อื่นนอกนั้นที่มิได้ต้องการแก่นจันทน์หอมย่อมดูแคลนดูหมิ่นมิได้ชื่นชม
ยินดี ความเปรียบนี้มีอุปมาฉันใด อยํ สารธาปวรธมฺโม อันว่าธรรมอันประเสริฐทรงไว้ซึ่ง
อรรถอันเป็นแก่นสารนี้ ก็สมควรแก่ท่านผู้ทรงศีลวิสุทธิสังวรจะสโมสรชมชื่น บุคคลผู้อื่นเป็น
ทุรชนมักดูหมิ่นเหมือนบุคคลผู้ดูหมิ่นต่อแก่นจันทน์อันหอมนั้น เหตุดังนี้ จึงมีพระพุทธฎีกา
ให้สำแดงพระปาติโมกข์ในสีมา อย่าให้สามเณรอุบาสก อบาสิกา เข้าไปร่วมรู้ร่วมเห็นจะดูหมิ่นได้
ให้กระทำดังนี้ เหตุจะให้เคารพนบนอบในพระพุทธบัญญัติ
พระเจ้ากรุงมิลินท์จึงมีปุจฉาถามอีกว่า ที่มีพระพุทธฎีกาโปรดไว้ให้พระภิกษุสำแดง
พระปาติโมกสังวรในสีมา ด้วยเคารพภิกษุนั้นอย่างไรเล่า
พระนาคเสนจึงแก้ว่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร ภิกฺขุภาโว
อันว่าภิกษุภาวะนี้ อตฺโล หาที่จะเปรียบมิได้ อปฺปเมยฺโย หาที่จะประมาณปานปูนมิได้ อนคฺโฆ
หาค่ามิได้ ไม่มีเพศใดจะเสมอเทียมทัน อุปไมยเหมือนดวงแก้วมณีอันประเสริฐเกิดเองหาค่า
มิได้ เหตุฉะนี้จึงโปรดไว้ให้สำแดงพระปาติโมกข์แต่ภิกษุ ชนอื่นนอกจากภิกษุนั้นสำแดงมิได้
จะเปรียบฉันใด อุปไมยเหมือนทรัพย์อันเป็นแก่นสาร วตฺถํ วา คือผ้าก็ดี อตฺถรณํ วา คือ
เครื่องลาดก็ดี หยคชรถตุรคํ คือช้างอันสำคัญและรถอันดี พาชีชาติอัสดรก็ดี สุวณฺณรชฏ-
อิตฺถีรตนํ
คือหม้อเงินทองนางแก้วก็ดี สมควรที่จะครอบครองได้ ก็แต่กษัตริย์อันสูงศักดิ์
ประเสริฐสุริยวงศ์ ถ้าบุญน้อยต่ำลงไป มิอาจสามารถจะครอบครองได้ ความข้อนี้ไซร้ ก็อุปไมย
เหมือนพระปริยัติไตรปิฎกและสังวรคุณอันนิยมเอาซึ่งศีลและมารยาทนี้ ก็อาจสามารถที่จะทรง
จะครองได้แต่พระภิกษุสงฆ์ทั้งปวงนั้น เหตุดังนั้นสมเด็จพระสัพพัญญูจึงบัญญัติไว้ให้พระ
ภิกษุกระทำสีมา และให้สวดพระปาติโมกข์มิให้คฤหัสถ์สามเณรนั่งฟังได้ เพื่อจะให้พระภิกษุ
เป็นที่เคารพนบนอบสักการบูชาแก่คณานิกรมนุษย์เทวดาทั้งปวง ขอถวายพระพร
สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ปิ่นสาคลนครได้ทรงฟัง ก็สโมสรสาธุการแก่พระนาคเสน อัน
เป็นองค์อเสกขบุคคลในกาลนั้น
ธัมมวินยปฏิจฉนปัญหา คำรบ 8 จบเพียงนี้

มุสาวาทครุลหุภาวปัญหา ที่ 9


สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภุมินทรมีพระราชโองการประภาษถามอีกเล่าว่า ภนฺเต นาคเสน
ข้าแต่พระนาคเสนผู้เป็นเจ้า ภาสิตํ เจตํ ภควตา สมเด็จพระมหากรุณาธิคุณอดุลยโลกา-
จารย์ญาณสัพพัญญูเจ้า มีพระพุทธฎีกาว่า สัมปชานมุสาวกนี้ถ้าต้องแล้ว ก็เรียกว่าอาบัติ
ปาราชิก ตรัสฉะนี้แล้ว ปุน จ ภณิตํ นานมาครั้งหนึ่งเล่า สมเด็จพระพุทธองค์เจ้ามีพระพุทธ-
ฎีกากลับเสียว่า สัมปชานมุสาวาทนี้เป็นแต่ลหุกาบัติดอก หาเป็นอาบัติปาราชิกไม่ เป็นสเตกิจ
ฉาพอเยียวพอยาพอจะเทศนาบัติแก่พระภิกษุองค์ใดองค์หนึ่งได้ นี่แหละโยมพินิจพิเคราะห์ไป
เห็นอยู่ว่า พระพุทธฎีกาทั้งสองนี้ไม่ต้องกัน จะเชื่อคำก่อนนั้นเล่า คำภายหลังของพระองค์เจ้าก็
จะผิด ครั้นจะเชื่อคำภายหลัง คำก่อนนั้นก็ผิด อยํ ปญฺโห อันว่าปริศนานี้ อุภโต โกฏิโก มีเงื่อน
เป็นสองไม่ต้องกัน โยมนี้พิเคราะห์ดูปัญหานี้ให้สงสัยนักหนา นิมนต์พระผู้เป็นเจ้าวิสัชนาให้
แจ้งในกาลบัดนี้
พระนาคเสนเถรเจ้าจึงถวายพระพรวิสัชนาว่า ภาสิตํ เจตํ มหาราช ขอถวาย
พระพรบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ สมเด็จพระมหากรุณาเจ้ามีพระพุทธฎีกาตรัสว่า
สัมปชานุสาวาทนี้ ถ้าภิกษุต้องแล้วก็เป็นปาราชิก ครั้นแล้วพระองค์บัญญัติอีกว่า สัมปชา-
นมุสาวาทนี้เป็นแต่ลหุกาบัติ พอเยียวยาพอจะเทศนาบัติได้ สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเจ้า
ตรัสบัญญัติตามวัตถุหนักวัตถุเบา ถ้าวัตถุหนักก็เป็นปาราชิก ถ้าวัตถุเบาก็เป็นแต่ลหุกาบัติ
ตํ กึ มญฺญสิ มหาราช ดูรานะบพิตรพระราชสมภารผู้ประเสริฐ ทรงเข้าพระทัยอย่างไร ใช่
กระนั้นพระพุทธฎีกานี้ตรัสเป็นสองสถาน จะรู้อาการโดยอุปมา เปรียบดุจหนึ่งว่า บุรุษคนหนึ่ง
มาประหารบพิตรพระราชสมภารด้วยมือ บุรุษผู้หนึ่งประหารคนอื่นอันเป็นไพร่บ้านพลเมือง
ด้วยมือ คนที่ประหาร 2 คนนี้โทษเหมือนกันหรือประการใด
ราชา สมเด็จพระเจ้ามิลินท์ภูมินทราธิบดีมีพระราชโองการตรัสว่า ภนฺเต ข้าแต่
พระผู้เจ้า บุรุษทั้ง 2 นั้นมีโทษต่างกัน คือบุรุษที่ประหารเขาอื่นนั้นโทษเป็นแต่ต้องปรับไหม
แต่บุรุษที่ประหารโยมเข้าด้วยมือนั้นต้องมหันตโทษทารุณร้ายกาจ ในพระราชกำหนดบทนั้น
สาหัสสากรรจ์นักหนา หตฺถปาทจฺเฉทํ กตฺวา ให้ตัดตีนสินมือ สพฺพเคหํ วิลุมฺเปยฺย ให้ริบรื้อ
สมบัติบ้านเรือนป็นเรือนหลวง และของทั้งปวงก็ริบเข้าท้องพระคลัง อุภโต ปกฺเข ยาว สตฺตกุลํ
ให้ฆ่าเสียซึ่งญาติของบุรุษผู้นั้น ฝ่ายบิดาเจ็ดชั่วโคตร ฝ่ายมารดาเจ็ดชั่วโคตร กับทั้งบุรุษผู้นั้น
นี่แหละประหารด้วยมือเหมือนกันก็จริงแล แต่ทว่าโทษมากกว่ากัน ไม่เหมือนกัน
ขณะนั้นพระนาคเสนจึงถามว่า มหาราช ขอถวายพระพรบพิตรพระราชสมภาร บุรุษ
ทั้ง 2 นี้ประหารด้วยมือด้วยกัน ก็ไฉนโทษจึงไม่เหมือนกัน